วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปรวัติราชวงศ์อุมัยยะฮ์

ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (The Umayyad Dynasty)ครองราชย์ระหว่างปี ฮ.ศ. 41-132 / ค.ศ. 661-750ศูนย์กลางการปกครองที่ซีเรียปีครองราชย์ รายนามเคาะลีฟะฮ์ฮิจเราะฮ์ศักราช
41-60 661-680 มุอาวิยะห์ อิบนุ อบีสุฟยาน (มุอาวิยะห์ที่ 1)
60-64 680-683 ยะซีด ที่ 1
64-64 683-684 มุอาวิยะห์ ที่ 2
64-65 684-685 มัรวาน อิบนุ อัลหากัม (มัรวานที่ 1)
65-86 685-705 อับดุลมะลีก
86-96 705-715 อัลวะลีด ที่ 1
96-99 715-717 สุไลมาน
99-101 717-720 อุมัร อิบนุ อัลอะซีซ
101-105 720-724 ยะซีด ที่ 2
105-125 724-743 ฮิซาม
125-126 743-744 อัลวะลีดที่ 2
126-126 744-744 ยะซีดที่ 3
126-127 744-744 อิบรอฮีม
127-132 744-750 มัรวาน อิลหิมาร์ (มัรวานที่ 2)
การขึ้นมาของราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ การเสียชีวิตของท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน เคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูนคนที่ 3 เป็นมูลเหตุของการขัดแย้งระหว่างท่านมุอาวิยะห์ข้าหลวงแห่งเมืองชาม (ซีเรีย) กับท่านอะลี อิบนุ อบีตอลิบเคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูนคนที่ 4 ท่านมุอาวิยะห์เป็นข้าหลวงแห่งเมืองชามตั้งแต่สมัยเคาะลีฟะฮ์ อุมัร อิบนุ อัลคอฎฎ็อบและดำรงตำแหน่งดังกล่าวเรื่อยมากว่า 20 ปี ท่านมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างใกล้ชิดกับเคาะลีฟะฮ์อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน และทั้งสองสืบเชื้อสายจากตระกูล อุมัยยะห์ บุตรของอับดุซซัม ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ?ราชวงศ์อุมัยยะฮ์? เมื่อเคาะลีฟะฮ์อุษมานถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายโดยกลุ่มกบฏ พร้อมกับการขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์แทนของท่านอะลีโดยการสนับสนุนจากกลุ่มกบฏ ทำให้ท่านมุอาวิยะห์ปฏิเสธการให้สัตยาบันต่อท่านอะลี โดยกล่าวหาท่านอะลีว่ามีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ฆาตกรรมเหล่านี้ ความขัดแย้งระหว่างท่านอะลีกับท่านมุอาวิยะห์เป็นมูลเหตุเกิดสงครามซิฟฟีนและมัจญ์ลิสตะห์กีมในเวลาต่อมาซึ่งมุสลิมสูญเสียเลือดเนื้อเป็นจำนวนมาก หลังจากมัจญ์ลิสตะห์กีมท่านอะลีถูกกลุ่มเคาะวาริจญ์ลอบสังหารเสียชีวิต บรรดาผู้ติดตามท่าน อะลีก็ได้แต่งตั้งท่านหะสัน บุตรของท่านอะลีขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์แทน ท่านหะสันดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ได้ไม่กี่เดือนก็ยอมสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ให้แท่ท่านมุอาวียะห์ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกและสูญเสียเลือดระหว่างชาวมุสลิมด้วยกันมากกว่านี้
เมื่อได้ขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์แล้วท่านมุอาวิยะฮ์ก็ได้อุทิศตนให้แก่การทำให้อาณาจักรอิสลามผนึกเข้าเป็นปึกแผ่นเรียกร้องความสามัคคีในชาติ ซึ่งแตกสลายและไร้ความสงบสุขมาตั้งแต่ท่านเคาะลีฟะฮ์อุษมานถูกฆาตกรรม เมื่อตั้งตัวได้สำเร็จแล้วท่านมุอาวิยะฮ์เริ่มหาทางพิชิตดินแดนอื่นๆ สานต่อจากเคาะลีฟะฮ์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิชิตแอฟริกาเหนือภายใต้การนำของแม่ทัพอุกบะฮ์ (Uqbah) ท่านอุกบะฮ์ได้ทำการต่อสู้กับชาวโรมันเป็นเวลานาน ในที่สุดก็เอาขณะชาวโรมันได้และได้เข้าครองแอฟริกาเหนือพร้อมกับสร้างเมืองก็อยรอวาน (Qairawan) ขึ้นทางใต้ของตูนิสเมื่อปี ฮ.ศ.50 นอกจากนี้ท่านมุอาวิยะฮ์ได้ขยายดินแดนไปทางทิศตะวันออกอย่างกว้างขวาง เมืองเฮรัต (Herat) ซึ่งแข็งข้อขึ้นก็ถูกตีได้เมื่อปี ฮ.ศ. 41 อีกสองปีต่อมาก็พิชิตเมืองกาบูลได้ ส่วนเมืองฆอซนา (Ghasna) เมืองบัลค์ (Balkh) กอนดาฮาร (Qandahar) บุคอรอ (Bukhara) สมรขันฑ์ (Samarkand) และเมืองติรมิดก็ถูกผนวกเข้าเป็นรัฐอิสลามในสมัยของเคาะลีฟะฮ์มุอาวิยะฮ์ อาณาจักรอิสลามไม่เพียงแต่รวมกำลังอย่างมั่นคงเท่านั้น แต่ยังขยายอาณาเขตการปกครองออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย
ท่านมุอาวิยะฮ์เป็นผู้บริหารที่ดี ทรงเป็นท่านแรกที่จัดตั้งกรมสารบรรณ (Diwan al-Khatam) และกรมไปรษณีย์ขึ้น จัดตั้งกองกำลังตำรวจและกองทหารองครักษ์ ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองให้ทำการบริหารส่วนท้องถิ่นและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษให้เป็นผู้บริหารเงินรายได้ของแผ่นดิน ท่านมุอาวิยะฮ์เป็นท่านแรกที่ทรงเปลี่ยนสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักรอิสลามและเป็นท่านแรกที่สร้างตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์โดยการสืบสันติวงศ์ขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านทรงแต่งตั้งท่าน ยะซิดโอรสให้เป็นเคาะลีฟะฮ์ ต่อมาการแต่งตั้งแบบนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างในการแต่งตั้งเคาะลีฟะฮ์ต่อมาตลอดราชวงศ์อุมัยะฮ์ทั้งราชวงศ์อับบาสียะฮ์และอื่นๆ อีกด้วย เมื่อท่านมุอาวิยะฮ์สิ้นชีพในปี ค.ศ. 680 ท่านยะซิดขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์ การแต่งตั้งยะซิดเป็นเคาะลีฟะฮ์ย่อมมีกลุ่มที่คัดค้านและต่อต้านอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านจากกลุ่มของอับดุลลอฮ์ อิบนุ ซุบัยรและกลุ่มของท่านหุสัยน์ อิบนุ อะลี ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์โศกนาฏกรรมกัรบาลาอ์ (Karbala?) ในวันที่ 10 เดือนมูหัรรอม ฮ.ศ. 61 ท่านหุสัยน์และพรรคพวกถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม เหตุการณ์กัรบาลาอ์ไม่เพียงแต่สะเทือนขวัญชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ระหว่างฝ่ายซุนนีย์และฝ่ายชีอะฮ์ที่ไปอาจลบความรู้นึกคิดที่เป็นปรปักษ์ต่อกันได้และดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากยะซิดสิ้นพระชนม์มุอาวิยะฮ์ที่ 2 โอรสของยะซิดได้ขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์ต่อ แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานก็สละตำแหน่งและสิ้นชีวิตไปในเวลาต่อมา ท่านมุอาวิยะฮ์ที่ 2 ไม่มีโอรสและไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นรัชทายาท ฝ่ายราชสำนักจึงแต่งตั้งท่านมัรวาน อิบนุ อิลหากัม เป็นเคาะลีฟะฮ์ท่านที่ 4 แห่งราชวงศ์อุบัยยะฮ์ ท่านมัรวานครองราชย์อยู่ได้ไม่ถึงปีก็สิ้นพระชนม์และได้ทรงแต่งตั้งโอรสชื่ออับดุลมาลิกเป็นเคาะลีฟะฮ์ต่อไป เมื่ออับดุลมาลิก (ค.ศ. 685 ? 705) สามารถปราบปรามกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อตนเองได้เสร็จสิ้นแล้ว ท่านได้เริ่มงานบูรณะความเป็นระเบียบภายในราชอาณาจักรอิสลาม พระองค์ได้ทำการปฏิรูปและนำเอามาตรการการบริหารแผ่นดินใหม่ๆ มาใช้ ท่านทรงปฏิรูปเหรียญอาหรับใหม่ ทั้งเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ซึ่งมีชื่อว่าดินาร์ ดิรฮัมและฟอล นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการปฏิรูปภาษาอาหรับโดยการนำเอาสระและเครื่องหมายจุดใส่ลงในตัวอักษรอย่างที่เห็นอยู่ ในปัจจุบันนี้ ในด้านสถาปัตยกรรม พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างโดมออฟเดอะร็อค (Dome of the Rock) ซึ่งเป็นมัสยิดที่สวยงามและมีชื่อเสียงมากในกรุงเยรูซาเล็ม เคาะลีฟะฮ์อับดุลมาลิกสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 705 หลังจากครองราชย์ได้ 21 ปี
เมื่ออับดุลมาลิกสิ้นพระชนม์ วะลีดที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสก็ขึ้นครองราชย์ในดามัสกัส ท่านวะลีดที่ 1 นับเป็นเคาะลีฟะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งของโลกมุสลิม ในรัชสมัยของพระองค์ (ค.ศ. 705?715) อาณาจักรอิสลามมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในและนอกประเทศ ท่านทรงปราบปรามการแข็งข้อของพวกชีอะฮ์และคอวาริจญ์จนราบคาบลง ราชอาณาจักรเต็มไปด้วยความสงบสันติ ทรงขยายอาณาจักรอิสลามออกไปอย่างกว้างขวาง เมืองบุคอรอ สมรขันฑ์ เมืองสินธ์ เอเชียกลางทั้งหมด แอฟริกาและสเปนต่างก็ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรอิสลาม อาณาจักรของท่านขยายจากชายแดนจีนไปจนถึงอ่าวบิสเคย (Biscay) และจากทะเลโอรอล (Oral Sea) ไปจนถึงเขตแดนกุจญ์ราตและบอมเบย์ในอินเดีย พระองค์ทรงสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาล จัดหาเงินช่วยเหลือคนชราและคนพิการ จัดให้มีโรงพยาบาลคนตาบอดโดยเฉพาะ ในรัชสมัยของพระองค์ศิลปะและวัฒนธรรมเริ่มเจริญรุ่งเรือง พระองค์ทรงเป็นนักสร้างที่ยิ่งใหญ่ ทรงบูรณะและขยายมัสยิดแห่งมะดีนะฮ์และมัสยิดอัลอักซอในเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงพัฒนาการค้าให้เจริญรุ่งเรืองและปลอดภัย นับได้ว่ารัชสมัยของเคาะลีฟะฮ์วะลีดที่ 1 ราชอาณาจักรอิสลามมีความสงบรุ่งเรืองและเจริญก้าวหน้ามากกว่าสมัยใดๆ ที่ผ่านมา เมื่อเคาะลีฟะฮ์วะลีดพี่ชายสิ้นชีพลง ท่านสุไลมานก็ขึ้นครองราชย์ พระองค์เป็นเคาะลีฟะฮ์ที่มีเมตตาต่อสหายแต่โหดร้ายต่อศัตรูมีชื่อเสียงในเรื่องฮาเร็มและการมีชีวิตอย่างหรูหรา ในรัชสมัยของพระองค์ ไม่มีอะไรที่เป็นคุณประโยชน์ที่โดดเด่นต่อราชอาณาจักรอิสลามมากนัก คุณประโยชน์อย่างเดียวที่ท่านทรงทำให้แก่รัฐอิสลามก็คือการแต่งตั้งให้ลูกพี่ลูกน้องของท่านที่ชื่อว่าอุมัร อิบนุ อัลอะซีซ เป็นเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของอาณาจักรอิสลาม ท่านสุไลมาน สิ้นชีพหลังจากที่เป็นเคาะลีฟะฮ์ได้ 2 ปีกับอีก 5 เดือน
ท่านอุมัรอิบนุ อัลอะซีซ ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์ในปี ค.ศ. 717 ท่านเป็นอนุชาของอับดุลมาลิก บิดาของท่านเป็นผู้ปกครองอียิปต์มาเป็นเวลานานและมารดาของท่านเป็นหลานปู่ของเคาะลีฟะฮ์ อุมัร อิบนุ อัลค็อฏฏอบ ท่านเป็นเคาะลีฟะฮ์ที่เคร่งครัดในเรื่องศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงบริหารอาณาจักรอิสลามอย่างยุติธรรมจนได้สมญานามว่า เคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูนคนที่ 5 ท่านพยายามจำกัดความไม่เสมอภาคระหว่างมุสลิมชาวอาหรับกับมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ ทรงมีจิตใจเมตตาต่อผู้ที่ถูกกดขี่ มีความกรุณาปรานีต่อครอบครัวของท่านอะลี โดยสั่งเลิกการประณามท่านอะลีในการละหมาดร่วมในวันศุกร์ นอกจากนี้ท่านอุมัรได้ทรงแต่งตั้งบุคคลสำคัญๆ ขึ้นครองตำแหน่งสูงๆ โดยเลือกเอาผู้ที่เที่ยงธรรมและซื่อตรงเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขแก่เหล่าประชาราษฎร์ที่อยู่ใต้ปกครอง พระองค์ทรงเห็นความสำคัญในการทนุบำรุงดินแดนที่ได้มาครอบครองแล้วให้เจริญรุ่งเรืองมากกว่าที่จะขยายอาณาเขตให้กว้างไกลออกไปอีก ผลงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งของท่านอุมัรก็คือ การรวบรวมหะดีษอย่างเป็นทางการ ตลอดการปกครองของท่านอุมัรประชาชนในราชอาณาจักรอิสลามทั้งชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมต่างก็มีความสุขและได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมกันทั่วหน้า
เมื่อท่านอุมัรสิ้นชีพลงยะชีดที่ 2 ก็ขึ้นครองราชย์ ในรัชสมัยของท่านยะชีดที่ 2 เกิดกลุ่มกบฏต่างๆ ที่ไม่พอใจในตัวเคาะลีฟะฮ์ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตในขณะเดียวกันเคาะลีฟะฮ์ไม่ค่อยสนใจในการบริหารประเทศมากนัก ระหว่างนั้นพวกอับบาสียะฮ์เริ่มมีอำนาจและแข็งข้อขึ้น ตอนแรกกระทำกันอย่างลับๆ แต่ต่อมาก็ทำอย่างเปิดเผยเพื่อโค่นล้มราชวงศ์อุมัยยะฮ์ลง ท่านฮิชามอนุชาของยะซีดที่ 2 ขึ้นครองราชย์ต่อจากท่านยะซีด ต้องเผชิญหน้ากับความยุ่งยากลำบากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในรัฐสมัยของท่าน การต่อสู้ระหว่างพวกอุมัยยะฮ์กับพวกอับบาสียะฮ์ดำเนินไปอย่างรุนแรง มีการก่อการจลาจลวุ่นวายทั่วราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามท่านยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อาณาจักรมุสลิมแผ่ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล ในทวีปยุโรป ภาคใต้ของฝรั่งเศสและเกือบทั้งหมดของสเปนก็ตกอยู่ในความครอบครองของมุสลิม ในแอฟริกาตั้งแต่ช่องแคบยิบรอลตาไปจนถึงคอคอดสุเอซก็เป็นอาณาจักรมุสลิม และในทวีปเอเชียก็ตั้งแต่ทะเลทรายซีนายไปจนถึงทุ่งหญ้าแห่งมองโกเลีย เคาะลีฟะฮ์ฮิชามสิ้นชีพในปี ฮ.ศ. 743 ท่านทรงเป็นเคาะลีฟะฮ์สำคัญสุดท้ายของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ท่านทรงใช้จ่ายเงินรายได้ของแผนดินไปในการขุดคลองสร้างปราสาทและจัดสวน ทรงมีขันติธรรมต่อชาวคริสเตียน ทรงเป็นนักวิชาการและผู้อุปถัมภ์ศิลปะและวรรณกรรม แต่ท่านทรงมีข้อเสียอยู่คือ เป็นคนขี้ระแวงและโลภมาก จึงมีการเปลี่ยนผู้ปกครองแคว้นบ่อยครั้งเกินความจำเป็นและมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ท่านไม่เป็นที่นิยมของประชาชน เมื่อฮิชามสิ้นชีพ วะลีดที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ในตอนแรกท่านพยายามเอาชนะใจประชาชน โดยการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่คนยากจน คนชราและคนพิการแต่ความโหดร้ายที่พระองค์ทรงมีต่อครอบครัวท่านอะลีและบนีฮาชิมก็ทำให้ชื่อเสียงของท่านฉาวโฉ่ไปทั่วประเทศ พระองค์ปกครองได้ไม่ถึงปีก็ถูกท่านยะซีดที่ 3 โอรสของเคาะลีฟะฮ์วะลีดที่ 1 ก่อการกบฏและถูกสังหารเสียชีวิต เมื่อวะลีดที่ 2 สิ้นชีพท่านยะซีดที่ 3 ผู้ก่อการกบฏก็ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์ ท่านเป็นคนใจบุญและเคร่งศาสนา เมื่อครองราชย์ก็ได้สัญญาว่าจะปลดเปลื้องความเดือดร้อนของประชาชน จะลดภาษีและจะปราบปราบข้าราชการที่ทุจริตคดโกง แต่ท่านอยู่ในราชสมบัติไม่นานพอที่จะทำตามที่ทรงสัญญาไว้ได้ ท่านต้องผจญกับความยากลำบากนานาประการมาตั้งแต่ต้น มีการกบฏทั้งในปาเลสไตน์และแอฟริกา ท่านครองราชย์ได้แค่ 6 เดือนก็สิ้นพระชนม์ และท่านอิบรอฮีมอนุชาของยะซิดขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์แทน แต่ได้รับการยอมรับจากคนเพียงบางส่วนเท่านั้น จนกระทั่งท่านมัรวานที่ 2 ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ เคาะลีฟะฮ์มัรวาน ที่ 2 หรือมัรวานอัลหิมาร์ ได้ย้ายเมืองหลวงจากดามัสกัสไปอยู่ที่ฮัรรอน ซึ่งทำให้ชาวซีเรียไม่พอใจและรวบรวมกำลังขึ้นต่อต้านเคาะลีฟะฮ์ ท่านมัรวานต้องผจญกับความยากลำบากต่างๆ นานา มีการกบฏในปาเลสไตน์ พวกคอวาริจญ์ก็แข็งข้อขึ้น และพวกบานีฮาชิมก็แพร่ขยายตัวออกไปอย่างน่ากลัว เกิดความครุ่นแค้นคุกรุ่นขึ้นทั่วราชอาณาจักรอุมัยยะฮ์ กองทัพซีเรียก็อ่อนแอลง ฉะนั้นสมัยของมัรวานจึงเต็มไปด้วยการต่อสู้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 750 อบูมุสลิมซึ่งเป็นตัวแทนการเคลื่อนไหวของกลุ่มอับบาสีย์พร้อมกับพรรคพวกได้ก่อกบฎและยึดเมืองคูราซาน (Khurasan) ได้สำเร็จ พร้อมกับขับไล่นัศร์ อิบนุ สัยยาร ซึ่งเป็นข้าหลวงของเคาะลีฟะฮ์มัรวานที่ 2 ประจำแคว้นคูราซานออกจากพื้นที่ การก่อกบฏและยึดอำนาจได้ขยายไปเรื่อยๆ ยังแคว้นอื่นๆ จนกระทั่งเคาะลีฟะฮ์มัรวานที่ 2 ซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮ์องค์สุดท้ายของราชวงค์อุมัยยะฮ์ถูกสังหารเสียชีวิต เมื่อกลุ่มอับบาสีย์ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจและโค่นล้มราชวงศ์อุมัยยะฮ์ พวกเขาได้พยายามประหัตประหารล้างเผ่าพันธุ์ทุกคนในตระกูลอุมัยยะฮ์ มีคนในตระกูลอะมะวีย์ไม่กี่คนที่สามารถหนีรอดจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์นี้ได้ ในบรรดาผู้ที่หนีรอดเหล่านั้นคือท่านอับดุลเราะหมาน ซึ่งเป็นหลานปู่ของเคาะลีฟะฮ์ฮิซามได้หนีเอาชีวิตรอดไปที่แอฟริกาเหนือและต่อมาได้สร้างราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่สเปนขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น